Top
สัมภาษณ์ดารา ย้ง - ทรงยศ สุขมากอนันต์


ล้วงลึกวงในผู้กำกับหนุ่มหน้าใส กับโปรเจกต์ใหม่ Top Secret วัยรุ่นพันล้าน



หลังประสบความสำเร็จอย่างมโหฬารกับรายได้หลักร้อยล้าน (อีกแล้ว) ของ "ลัดดาแลนด์" เมื่อกลางปีที่เพิ่งผ่านมา
ปลายปีนี้แฟน ๆ ของจีทีเอชก็ไม่ต้องชะเง้อรอยคอ (รอคอย) ให้เสียเวล่ำเวลา เพราะค่ายหนังอารมณ์ดีค่ายนี้
กำลังจะปล่อยหนังใหม่สด ๆ ร้อน ๆ ออกมาให้คอหนังได้ยลกันอีกคราในเดือนตุลาคมนี้ แต่ในคราวนี้ออกจะ
มาแปลกแหวกแนวจากที่เคยคุ้นไปเสียหน่อย ด้วยการหยิบยกเอาเรื่องราวและแรงบันดาลใจจากบุคคลที่มี
ตัวตนอยู่จริง ขึ้นมาทำเป็นหนัง ซึ่งบุคคลผู้นั้นก็ไม่ใช่ไก่กาอาราเล่ที่ไหน หากแต่เป็นนักธุรกิจหนุ่มชื่อดัง
ที่ขึ้นสู่บัลลังก์เศรษฐีพันล้าน ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

เขาคนนี้เป็นเจ้าของแบรนด์สาหร่ายอันดับหนึ่งของเมืองไทย เจ้าของยอดขายเหยียบพันล้านบาทต่อปี
ที่มีชื่อว่า อิทธิพันธ์ กุลพงษ์วณิชย์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม "ต๊อบ เถ้าแก่น้อย" นั่นเอง


ที่มา : FILMAX




ผลงานละคร และผู้ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวของเขาก็ไม่ใช่ผู้กำกับโนเนมที่ไหน หากแต่เป็นคุณ ย้ง หรือ ทรงยศ สุขมากอนันต์ เจ้าของผลงานคุณภาพอย่าง แฟนฉัน, เด็กหอ, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และ ห้าแพร่ง ก็ คงจะพอเป็นการการันตีได้ว่าหนังใหม่แกะกล่องของค่ายนี้จะมีรสชาติเข้มข้นกลม กล่อมไม่แพ้สาหร่ายเถ้าแก่น้อยเป็นแน่ เอาเป็นว่าเรามาฟังที่มาที่ไป และความในใจเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้จากปากคำของผู้กำกับหนุ่มหน้าใส (หัวใจเต็มร้อย) คนนี้ เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนดูหนังจริงกันเถอะ

ถาม

ทำไมถึงคิดหยิบเอาเรื่องของ "เถ้าแก้น้อย" มาทำเป็นหนังครับ

ย้ง

มีอยู่วันนึง พี่เก้ง จิระ (มะลิกุล) กับ วรรณฤดี (พงศ์สิทธิศักดิ์) ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์หนังของจีทีเอชมาชวนผม ว่ามีโปรเจกต์นึงอยากให้ผมทำ ซึ่งตอนแรกผมจะหวั่น ๆ เพราะหนังผมทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “เด็กหอ” “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” “ห้าแพร่ง” มันจะเป็นเรื่องที่ผมคิดแล้วเอามาเสนอ คือผมรู้สึกว่าผมไม่เหมือน เอส (คมกฤษ ตรีวิมล) ไม่เหมือน ปิ๊ง (อดิศร ตรีสิริเกษม) ที่เขาเป็นผู้กำกับจริง ๆ ที่จะสามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ ผมต้องเล่าเรื่องที่ผมรู้จัก ก็เลยหวั่นนิด ๆ พอดีพี่เก้งกับวรรณก็ให้ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของ ต๊อบ (อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์) เถ้าแก่น้อย ที่ คุณหนุ่มเมืองจันท์ เป็นคนสัมภาษณ์ ซึ่งพอผมอ่านแล้วผมอิน ผมสนุกกับเรื่องราวของเขา ผมก็เลยบอกว่า พี่ ผมอยากทำ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์

ถาม

ปกติหนังไทยนี่จะมีหนังชีวประวัติบุคคลน้อยมากเลยนะครับ

ย้ง

จริง ๆ ถามว่าเรื่องนี้เป็นชีวประวัติไหม? ก็ไม่เชิงนะ ผมว่ามันเป็นหนังที่ใช้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของบุคคล แบบ Milk, The Social Network ซึ่ง เอาความจริงและเรื่องราวบางอย่างมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ คือชีวิตจริงของคน ถ้าเอามาทำเป็นหนังแล้วไม่ดัดแปลงเลย ผมว่ามันจะเป็นภาพยนตร์ไม่ได้ ส่วนเรื่องนี้ ด้วยความที่ผมคิดว่าคนไทยยังใหม่กับหนังทำนองนี้ เราเลยไม่อยากเรียกว่าเป็นหนังชีวประวัติ เพราะคนจะไปคิดว่ามันจะต้องเป็นความจริงในชีวิตทุกอย่าง ผมรู้สึกว่าถ้าจะทำหนังเรื่องของคนคนนึง เราต้องจับหัวใจ วิธีคิด หรือตัวตนของคนคนนั้นให้ได้ แล้วเราต้องรวบอะไรบางอย่างเข้าไว้ด้วยกัน แต่ให้มันอยู่ในหัวใจเดิมน่ะ

            อย่างตัวของต๊อบเนี่ย เขามีคนสำคัญที่เคยช่วยเหลือเขาในชีวิตอยู่สองคน แต่ในหนัง ถ้าเราจะเล่าให้มันเป็นเนื้อเป็นหนัง เราต้องรวบสองคนนั้นให้เป็นคนเดียว ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ความจริง 100% ซึ่งคนไทยอาจจะยังไม่เข้าใจวิธีการดัดแปลงแบบนี้ เราเลยอยากจะใช้ว่า หนังเรื่องนี้มันใช้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของต๊อบเป็นหลักใหญ่ แล้วก็อ้างอิงชีวิตจริงของเขา ถ้าจะเทียบก็คงจะเหมือนกับ Social Network ที่ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ออกมาพูดว่า ชีวิตเขาไม่ได้มีสีสันขนาดนี้ เขาไม่ได้เลิกกับแฟนเขา แค่วันนึงเขาเมาเหล้าแล้วทำเฟซบุ๊คขึ้นมา ไม่ได้ทำเพราะเลิกกับแฟน แต่แรงขับของตัวละครในหนังมันไม่พอ แรงบันดาลใจมันต่ำน่ะ แต่พอเป็นเรื่องความรัก เรื่องอกหัก ถูกผู้หญิงทำร้ายมา เลยทำให้เขาเป็นแบบนั้น แรงขับมันสูงน่ะ ซึ่งหนังมันต้องทำแบบนั้น ถามว่ามันผิดไหมสำหรับหนัง มันก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่ถ้าคนดูไปยึดติดว่ามันเป็นความจริง 100% มันก็จะไม่ใช่





ถาม

แต่แม้กระทั่งเมืองนอกเอง The Social Network ก็ยังโดนด่าว่าบิดเบือนความเป็นจริง

ย้ง

ใช่ครับ ผมว่าถ้าคนดูเข้าใจว่าคนทำหนังแบบนี้ เขาแค่หยิบเรื่องราวอะไรบางอย่างในชีวิตของคนคนนี้ซึ่งบันดาลใจเขามาเล่า มันก็เหมือนกับว่า หนังเรื่องนี้มันก็คือชีวิตของคุณที่ผ่านการมองด้วยความเข้าใจของผม ซึ่งหนังมันต้องมีทัศนคติของคนทำนะ ถ้ามันไม่มีผมว่ามันก็คงจะเป็นสารคดีไป

ถาม

อีกประการหนึ่ง คนที่คุณหยิบมาทำหนังเรื่องนี้ ก็ยังมีชีวิตอยู่ด้วย แถมยังอายุไม่มากด้วย ไม่คิดหรือครับว่ามันจะเร็วไปหรือเปล่า ที่จะเล่าเรื่องชีวิตของเขา

ย้ง

ผมว่าชีวิตต๊อบน่าสนใจตรงที่ว่า เขาประสบความสำเร็จตอนที่เขายังเด็ก ซึ่งจะแตกต่างกับคนที่ประสบความสำเร็จตอนที่อายุมาก ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมาแล้ว เริ่มวางเป้าหมายในชีวิตมาแล้ว ถึงจะเริ่มประสบความสำเร็จ อย่างถ้าให้ทำเรื่องของ คุณตัน (ภาสกร นที) ก็จะไม่เหมือนเรื่องของต๊อบ คือวัยรุ่นที่ลุกขึ้นมาทำอะไรเนี่ย เขาจะยังไม่รู้หรอกว่าจุดหมายปลายทางเขาคืออะไร เขาไม่ได้หวังสิ่งนั้น ตอนที่ต๊อบลุกขึ้นมาจะขายสาหร่าย เขาไม่ได้คิดว่า “กูอยากเป็นเศรษฐีพันล้าน” เขาไม่ได้วางเป้าหมายแบบนั้น เพียงแต่ว่าเขาจะทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มันดีที่สุด เขาพบว่าเขาทำสิ่งนี้แล้วมีความสุข ทำได้ดี เขาก็จะทำสิ่งนั้นให้ไปให้สุดทางของมัน แล้วเส้นทางนั้นน่ะ พาเขาไปถึงจุดที่เขาเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งอันนี้มันจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง แล้วผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย

ถาม

ซึ่งจะว่าไปก็คล้าย The Social Network เอาการอยู่เหมือนกันนะครับ

ย้ง

คล้ายครับ พูดตรง ๆ เลย ก็คือตั้งแต่วันที่เราเริ่มโปรเจกต์นี้เมื่อสองปีที่แล้ว สักพักนึงก็มีข่าวหนัง The Social Network ออกมา คือเขียนบทไปประมาณเกือบปีแล้วมั้ง เราก็เริ่มคุยกันในทีมกันว่า ‘เฮ้ย มันจะมีใครคิดว่าเราก็อป Social Network หรือเปล่าวะ? แต่โดยส่วนตัวเรา ด้วยความที่แคแร็กเตอร์คนไทยกับฝรั่งอย่าง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก กับ ต๊อบ อิทธิพัทธ์ เนี่ย มันไม่เหมือนกันอยู่แล้วน่ะ เชื่อว่าทำมายังไง ถ้าคนไปดูก็จะรู้สึกว่ามันไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าหัวใจมันเหมือนกันตรงที่ ถ้าเราไปดูในหนัง ตอนที่มาร์คเริ่มทำเฟซบุ๊ค เขาก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะเป็นเศรษฐีพันล้านเหมือนกัน ตอนที่ต๊อบเริ่มขายเกาลัด เริ่มขายดีวีดี เริ่มขายสาหร่าย เขาก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะกลายเป็นเศรษฐีพันล้าน เขาแค่รู้สึกว่า เขามีความสุข และสนุกกับการทำสิ่งนี้ มันจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับตอนที่คุณตันทำโออิชิ ซึ่งเราว่าพาร์ตนั้นก็คงจะมีคนทำหลายคนแล้ว แต่พาร์ตของต๊อบนี่ยังไม่ค่อยมี

ถาม

ฟังดูแล้วต๊อบนี่ก็ออกจะมีความเนิร์ดคล้ายกับมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก อยู่เหมือนกันนะครับ

ย้ง

จริง ๆ ผมว่าคนที่มุ่งมั่นทำอะไรบางอย่างน่ะ มองอีกมุมนึงมันก็เนิร์ด สุดท้ายมันก็อยู่ที่บุคลิกของคนคนนั้น เวลาเราเห็นคนคนนึงมุ่งมั่นทำอะไรบางอย่าง ถ้ามันไม่มีสง่า ไม่เท่ มันก็จะดูเนิร์ด สำหรับผม มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ในหนังน่ะ มันทำออกมาก้ำกึ่งระหว่างความเนิร์ดกับความเท่นะ มันเลยมีเสน่ห์ อันนี้มันก็แล้วแต่คนดูจะเข้าไปตัดสินนะ คนมุ่งมั่นมันเนิร์ดอยู่แล้วน่ะ





ถาม

แล้วอย่างต๊อบล่ะครับ? เห็นว่าเป็นเด็กติดเกมมาก่อนด้วย

ย้ง

เป็นเด็กติดเกม เป็นเด็กเกเร ไม่สนใจเรียน เป็นเด็กเกรียน ๆ น่ะ ตามประสาวัยรุ่นทั้งหลาย แต่วันนึงเขาเล่นเกมแล้วเขาค้นพบว่า ไอ้การเล่นเกมของเขามันหาตังค์ได้จริง ๆ แล้วตรงนั้นแหละ ที่เขาเริ่มสนุกกับการหาเงิน สิ่งหนึ่งที่ผมสนุกกับการทำหนังเรื่องนี้ก็คือ วันที่ผมมีโอกาสได้เจอต๊อบตัวจริงแล้วมานั่งคุยกันน่ะ โชคดีที่เขาเปิดใจ เหมือนคุยกันแล้วเราสื่อถึงกัน คือจริง ๆ ก่อนทำบทก็แจ้งให้เขาทราบแล้วว่าเราจะทำเรื่องนี้นะ แต่ยังไม่ได้ขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร เหมือนเราจะไปพัฒนาเรื่องมา แล้วมาคุยกันว่าต๊อบโอเคไหมกับเรื่องนี้ พอวันที่เราพัฒนาเรื่องมาถึงระยะนึงปุ๊บ ก็ชวนต๊อบมาคุยว่าเราจะทำเรื่องอะไรบ้าง วันนั้นแหละที่ผมค้นพบว่าเขาเปิดใจให้เรา จริง ๆ มันยากมากนะ ที่เราจะยอมให้ใครเอาชีวิตเราไปทำอะไร ซึ่งมันต้องมีตัวเราในแง่ลบอยู่บ้าง มันก็มีบางอย่างที่เราบอกว่า “เฮ้ย! ต๊อบ พี่ว่ามันต้องมีซีนนี้ว่ะ! ถ้ามันไม่มีมันก็จะเหมือนต๊อบให้สัมภาษณ์ในหนังสือน่ะ”

ถาม

อย่างที่บอกว่า หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากบทสัมภาษณ์คุณต๊อบโดยคุณหนุ่มเมืองจันท์ แล้วอย่างนี้จะเอาบทมาจากไหนล่ะครับ แค่บทสัมภาษณ์มันพอหรือ?

ย้ง

จริง ๆ ถ้าเคยดูสัมภาษณ์ต๊อบ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตามมา ต๊อบเขาจะเล่าเรื่องนึงเหมือนกันประจำ เช่นว่า ตอนที่เขาเอาสาหร่ายเข้าโกดังครั้งแรกแล้วเลือดกำเดามันไหลแล้วพี่เขาทัก หรือว่า วันนึงที่โดนพ่อเขาแซวว่า “ลื้อน่ะอยากเป็นเถ้าแก่น้อย” แล้วเขาก็เอาคำของพ่อมาตั้งเป็นชื่อ คือสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นสื่อไหน ต๊อบก็จะเล่า เราก็เอาเหตุการณ์ตรงนั้นมาต่อยอด มาแตกเป็นเรื่อง แล้วเราก็เอาหัวใจของมันมา ว่าต๊อบเป็นคนยังไง

ถาม

เพราะตัวคุณต๊อบเองก็ยังไม่เคยมีหนังสือชีวประวัติออกมา

ย้ง

ไม่มีครับ คือเอาจากเรื่องที่เขาเล่าในรายการโทรทัศน์เรื่องที่เขาให้สัมภาษณ์ บวกกับการได้คุยกับตัวจริงเขา แล้วก็ลงลึกไปในรายละเอียด คือหนังมันต้องให้อะไรมากไปกว่าการที่เราดูสัมภาษณ์เขาในรายการ คือจริง ๆ เวลาเราอ่านบทสัมภาษณ์หรือดูในรายการโทรทัศน์เราก็จะเห็นแค่เหตุการณ์ผิว หน้า แต่เราไม่รู้ว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น ทำไมเขาทำแบบนั้น

ถาม

แล้วทำยังไงให้มันกลายเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นปึกแผ่นสำหรับเอามาทำหนังได้ครับ

ย้ง

จริง ๆ บทสัมภาษณ์ของ พี่ตุ้ม (หนุ่ม เมืองจันท์) น่ะยาวมาก มันมีตั้งแต่พาร์ตเด็กมาจนถึงพาร์ตวัยรุ่น จนถึงพาร์ตที่ประสบความสำเร็จ แล้วเราก็มานั่งดูว่าเราสนใจประเด็นไหน ซึ่งเราไม่ได้หยิบมาทั้งหมด เพราะมันจะกลายเป็นหนังที่ยาวมาก ก็หยิบมาแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ช่วงจากม.ปลาย สู่มหา’ลัย แล้วทำธุรกิจเข้าเซเว่น ช่วงนั้นเลย วันที่ประสบความสำเร็จแล้วเราไม่สนใจ พอหยิบตรงนี้ขึ้นมาได้ปุ๊บ เราก็รู้แล้วว่าเราควรจะดึงประเด็นอะไรเอาไว้ แล้วก็นัดต๊อบเข้ามาคุยว่าในเหตุการณ์เหล่านั้น เขาคิดยังไง? วิธีคิดของเขาคืออะไร? พอได้คุย ได้เจอตัวจริง ก็จะเข้าใจตัวตนของเขามากขึ้น แต่สุดท้ายพอหนังออกมามันก็จะเป็นตัวตนของต๊อบในแบบที่ผมเข้าใจ





ถาม

แล้วเถ้าแก่น้อยจะมีแผนการโปรโมทอะไรให้หนังเรื่องนี้ไหมครับ

ย้ง

เดี๋ยวเขาคงทำกับ 7-Eleven แต่สิ่งที่ต๊อบช่วยผมได้มาก ๆ เลยก็คือเขาค่อนข้างเปิด หมายถึงเวลาเราคุยกันแล้วเริ่มสนิทกันเนี่ย ผมก็ถามเขาหน้าด้าน ๆ ว่า “เฮ้ย! ต๊อบ พี่ทำบทต๊อบมาจนจะเสร็จแล้วเนี่ย ไม่รู้ว่ามันเกินไปหรือเปล่านะ แต่ถ้าวันที่พี่อยากกำกับตัวละครตัวนี้ พี่ต้องเข้าใจต๊อบว่ะ! พี่ถามต๊อบได้ไหมว่า... ต๊อบมีความลับอะไรในชีวิตที่ต๊อบไม่เคยเล่าให้ใครฟังไหม?” ซึ่งหลังจากนั้นผมไปบอกใครทีหลัง เขาก็บอกว่า “เป็นคำถามที่เชี่ยมากเลยนะ!” (หัวเราะ) คือมันเป็นคำถามที่ต้องกดดันให้เขาต้องพูดน่ะ!

            แต่สุดท้ายต๊อบเขาก็เล่าออก มาจากใจน่ะ ผมไม่บอกแล้วกันนะว่าสถานการณ์นั้นเป็นสถานการณ์อะไรในหนัง แต่พอเขาเล่ามาเสร็จปุ๊บ ผมก็บอกว่า ผมขอเอาไปใช้ในหนัง เพราะว่ามันเป็นแรงขับตัวละครที่ดีมาก มากกว่าการที่ว่าคุณแค่อยากรวย กูแค่เป็นวัยรุ่นแล้วกูทำในสิ่งที่กูมีความสุขน่ะ ซึ่งมันก็เป็นแรงขับที่ดีน่ะ แต่ว่าถ้ามันมีอะไรที่มันสะเทือนอารมณ์มากกว่านั้น ผมว่ามันจะเชื่อมตัวละครตัวนี้ได้มากขึ้น แล้วผมก็ขอเขา เพราะมันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวสำหรับเขามาก แต่สุดท้ายเขาก็ยอมให้มา คือเวลาเราทำหนังเรื่องของใครสักคนนึง มันเป็นเรื่องของการที่เขาอนุญาตให้เราเข้าถึงชีวิตเขาไหมน่ะ ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผมว่าต๊อบให้ผมเยอะ

ถาม

ในอีกแง่นึง จะว่ามันยาก มันก็ยาก แต่จะว่ามันง่าย มันก็ง่ายนะ เพราะเราได้พูดคุยขออนุญาตกับเจ้าตัวเขาเลย ไม่ใช่ญาติพี่น้องที่จะมาคิดแทนและคอยปกป้องเขาเหมือนกรณีของคนอื่น ๆ ที่เสียชีวิตไปแล้ว

ย้ง

ใช่ครับ แต่เขาจะกดดันตรงที่ว่า เรื่องของเขามันก็ต้องไปกระทบกับคนรอบข้าง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่กระทบ คือ เรื่องครอบครัวมันก็ต้องมีเรื่องพ่อแม่ พี่น้อง อะไรอีกมากมาย

ถาม

ว่าด้วยเรื่องของนักแสดงบ้าง ทำไมถึงเลือก น้องพีช (พชร จิราธิวัฒน์) มารับบทคุณต๊อบ

ย้ง

ตอนที่ผมพัฒนาบทเรื่องนี้ พี่เก้งกำลังตัดต่อหนัง Suck Seed กับผู้กำกับ แล้วเขาก็บอกว่า “ผมรู้สึกอะไรบางอย่างก็ไม่รู้ ว่าพีชมันเหมาะกับหนังของย้งว่ะ!” ตอนนั้นผมยังติดอยู่ในใจลึก ๆ ว่าบ้านพีชมันสมบูรณ์พร้อม แล้วมันจะเข้าใจความเป็นดราม่าของหนังเรื่องนี้หรือเปล่า ชีวิตมันไม่ได้ผ่านอะไรมา มันจะเล่นดราม่าได้ไม่เข้าถึง ผมก็จะกลัว จะกึ่ง ๆ ปฏิเสธพี่เก้งไปก่อน ผมไม่แน่ใจ ขอลองแคสต์ใหม่ดีกว่า แต่ผมก็เก็บมันไว้ในใจ

            ตอนที่ผมไปดูหนังเรื่อง Suck Seed ผมรู้สึกชอบเด็กคนนี้อย่างนึงตรงที่ว่า มันเป็นเด็กที่กระโดดเข้าหาทุกอย่าง ไม่กลัวเจ็บ จะทำอะไรก็กล้าที่จะกระโจนเข้าหา ผมรู้สึกว่านี่แหละคือนักแสดงที่ดี แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่ามันจะกลวง ๆ หรือเปล่า? จนกระทั่งผมทำแคสต์ไป 5 เดือน หาตัวพระเอกนี่แหละ ทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า นักแสดง เซเลปฯ แล้วมันแปลกตรงที่ว่า ปกติเวลาผมทำแคสติ้งหนังเรื่องไหนก็ตาม ยิ่งหาก็ยิ่งจะเจอคนที่ใช่น่ะ แต่กับหนังเรื่องนี้ ยิ่งหาก็ยิ่งไม่ใช่ ๆ ๆ น่ะ แล้วยิ่งรู้สึกว่า คนที่พี่เก้งพูดถึงคนแรกมันใช่ที่สุด การเจอคนใหม่ ๆ จากการทำแคสต์สำหรับผมเนี่ย มันยิ่งยืนยันว่า พีชมันใช่ที่สุด

            วันที่ตัดสินใจว่าอยากได้พี ชมาเล่นก็เป็นวันท้าย ๆ มากแล้ว น้องจะเปิดเรียนอยู่แล้ว ฝ่ายโปรดักชั่นก็ถามว่า “มาบอกอะไรตอนนี้? มันจะเล่นหรือไม่เล่นก็ไม่รู้นะ! ไม่ติดต่อมันไว้ก่อน” แต่พอเข้าไปคุยกับมัน เรียกมาลงเทป มันก็บอกว่าบทยาก ไม่แน่ใจว่าจะเล่นได้หรือเปล่า แต่สิ่งที่มันอินก็คือ ประเด็นความขัดแย้งของลูกชายกับพ่อ มันก็มีเหมือนกัน มันรู้สึกว่ามันเข้าใจ มันน่าจะทำได้ มันอยากเล่น กับมีอีกอันนึงที่มันบอกกับแม่ แล้วแม่มันมาเล่าให้ผมฟังว่ามันบอกว่า “พี่ย้งแม่งยากดีว่ะ! ทำงานด้วยยาก ถ้ามันผ่านพี่ย้งไปได้มันน่าจะโอเค ท้าทายดี!” ด้วยความคิดนี้ของมันสำหรับผมน่ะเหมือนต๊อบ คือไม่กลัวที่จะเจออะไรยาก ๆ ผมก็เลยเลือกมา





ถาม

แล้วพอมาเล่นจริง ๆ แล้วเป็นยังไงครับ เหมือนไหม

ย้ง

ผมว่ามันมีความเป็นวัยรุ่นอะไรบางอย่างที่ตรงกันมาก ตอนเราเป็นวัยรุ่นเราก็กร่าง ๆ เกรียน ๆ ไม่กลัวใคร ไม่เกรงใจใคร มีอยู่ ซึ่งดีครับ หน้าตาไม่เหมือนกันนะครับ แต่มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน ซึ่งเป็นแคแร็กเตอร์ของต๊อบตัวจริงที่เด่นมาก คือถ้าใครเคยเจอตัวจริงต๊อบ เขาจะเป็นคนที่ผู้ใหญ่เอ็นดูน่ะ เวลาไปไหนทุกคนจะมองเขาหมด หน้าตาเขาตี๋ ๆ ขาว ๆ ซึ่งไม่ใช่คนหน้าตาดีแบบพระเอก แต่มันดูน่าเอ็นดู ซึ่งพีชน่ะมีแคแร็กเตอร์แบบนั้นอยู่ ไม่ใช่ทุกคนนะครับ ที่ผู้ใหญ่และวัยรุ่นดูแล้วโอเคเหมือนกัน ซึ่งอันนี้ผมว่าเป็นอย่างเดียวกันที่พีชมีเหมือนต๊อบ เขาคุยสนิทกันเลยครับ มีวันนึงผมพาไปกินข้าวด้วยกัน ด้วยความเป็นเด็กติดเกมเหมือนกันจริง ๆ พีชตัวจริงมันก็เกรียน ๆ เนิร์ด จริงจัง เหมือนกันน่ะ คือผมว่าคนที่จะประสบความสำเร็จได้มันต้องมีความมุ่งมั่น หนังเรื่องนี้ตัวละครอาจไม่ได้มีเสน่ห์แบบหนังวัยรุ่นเรื่องอื่น ๆ ของจีทีเอช ที่มีความรัก ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่เสน่ห์ของหนังเรืองนี้มันจะเป็นความมุ่งมั่น ความจริงจัง ซึ่งพีชถ่ายทอดออกมาให้ผมได้

ถาม

หนังเรื่องนี้เรียกว่าเป็นหนังแนวอะไรเหรอครับ เพราะถ้าคนมองหนังของจีทีเอช ก็มักจะเป็นหนังวัยรุ่น หนังรัก หรือหนังโรแมนติกคอเมดี้อะไรพวกนี้

ย้ง

 โรแมนติกคอเมดี้ตัดทิ้งไปเลยครับ (หัวเราะ) ไม่มีโรแมนติก ไม่มีคอเมดี้เลยครับ ผมว่ามันเป็นหนังวัยรุ่น แต่ไม่กล้าพูดว่ามันเป็นหนังวัยรุ่นดราม่านะ มันมีซีนโรแมนติกอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ซีนโรแมนติกแบบกุ๊กกิ๊กน่ะ มันจะเป็นแบบว่า “ทำไมเธออายเราที่เธอไปขายเกาลัด เราไม่ใช่ผู้หญิงแบบนั้นนะ” มันจะอยู่ในพาร์ตของการทำอะไรบางอย่างอยู่น่ะ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องของความรักล้วน ๆ แต่ความรักนั้นมันจะเกี่ยวพันกับการเลือกเส้นทางเดินชีวิตยังไงมากกว่า มีความรัก มีแฟน มีเรื่องครอบครัว แต่มันไม่ใช่หนังรัก ไม่ใช่หนังครอบครัวไปซะทีเดียว แต่มันเป็นเรื่องของเด็กคนนึงที่เชื่อว่าตัวเองทำอะไรได้ดี แล้วลุกขึ้นมาทำมัน ผมถามพี่เก้งแกก็บอกว่า บอกไปเลยว่าเป็น “หนังวัยรุ่นทำธุรกิจ” กว้างมาก (หัวเราะ)

ถาม

เหมือน The Social Network?

ย้ง

สำหรับผม Social Network ไม่เหมือนกับหนังเรื่องนี้ตรงที่พระเอกมันไม่ได้ทำธุรกิจ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ไม่ได้มีหัวธุรกิจ เขาเป็นเนิร์ด เป็นครีเอทีฟ แต่ต๊อบเป็นนักธุรกิจจริง ๆ ถ้าถามจริง ๆ ตอนที่ทำหนังเรื่องนี้ พี่เก้งเอาหนังเรื่องนึงมาให้ผมดู คือ The Pursuit of Happyness คือ คนที่มันสู้อะไรบางอย่าง พี่เก้งมองว่าหนังมันจะไปในทางนั้น แต่พอผมทำออกมามันก็ไม่เหมือนน่ะ (หัวเราะ) เขาแค่อยากเห็นหนังที่ให้แรงบันดาลใจให้คนลุกขึ้นมาสู้ชีวิตแบบนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้น วันที่ทำมันยังไม่มี Social Network น่ะ มันก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคนเหมือนกันน่ะ เพียงแต่ว่ามันอ้างอิงข้อมูลเรื่องการทำธุรกิจมากกว่า Social Network มันแทบจะทิ้งการทำ facebook ไปเลยน่ะ มันแค่เอา facebook เป็นแบ็คกราวด์ แต่ของเรามันพูดถึงการทำธุรกิจ วิธีคิด ชีวิตเขาง่ายมากเลย ต๊อบเนี่ย วันที่เขาคิดจะขายสาหร่าย มันคือการที่เขาขึ้นรถแฟน แล้วแฟนเอาสาหร่ายทอดที่ซื้อมาจากโอท็อปมาให้กิน แล้วเขาก็รู้สึกว่ากินแล้วอร่อยดี คนอื่นฝากซื้อ แต่เขาไม่ฝากซื้อ แต่ถามว่าซื้อจากที่ไหน แล้วไปซื้อมาขาย มันเป็นเรื่องของวิธีคิดน่ะครับ ตรงนี้ล่ะที่เราจะเล่า

ถาม

แล้วในแง่ของธุรกิจ คุณย้งไปหาข้อมูลมาจากไหนครับ

ย้ง

ปีที่ผ่านมาผมออกมาทำโปรดักชั่นเฮ้าส์ส่วนตัว (บริษัทนาดาว) มันก็จะมีบางพาร์ตที่ผมเข้าใจ ผมอิน มันมีความโดดเดี่ยว มันมีความเคว้งคว้างอะไรบางอย่างที่เราขึ้นไปยืนอยู่บนที่สูงน่ะ แล้วมันมีจุดนึงที่ผมอ่านเรื่องของต๊อบแล้วผมอินมากก็คือ ตอนที่ผมทำบริษัทนาดาวสักพัก แล้วผมค้นพบว่าผมต้องอ่านสัญญาโน่นนี่นั่น ผมรู้สึกว่าผมสนุกกับการทำงาน แต่ผมขี้เกียจอ่านสัญญาน่ะ แล้วเราก็มีฝ่ายกฎหมายอยู่แล้ว มีอยู่วันนึง ผมไม่อ่านสัญญาแต่ผมเปิดไปหน้าสุดท้ายแล้วก็เซ็น แล้วก็วางปึ้ง! เอาไว้ ปรากฏว่าคืนนั้นผมนอนไม่หลับ เพราะผมรู้สึกว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นไหมวะ?

            ซึ่งต๊อบก็เป็นเหมือนกัน เขาสนุกกับการทำ สนุกกับการขายของ สนุกกับการคิด สนุกกับการดีล แต่วันที่ต้องมานั่งลงดีเทล เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าถ้าคุณทำสิ่งเหล่านี้มันจะต้องมีสิ่งที่คุณไม่ชอบตาม มาด้วย ถ้าจะขายเกาลัด ก็ต้องมาแบกกระสอบกรวด อันนี้เขาไม่รู้ คือด้วยความที่บ้านเขาก็มีฐานะแล้วต้องมาแบกอะไรหนัก ๆ อย่างนี้เหรอ? มันเริ่มไม่ใช่แนวทางแล้ว มันก็จะมีอุปสรรคในใจของตัวเองที่เจอไปตลอดเส้นทาง แล้วผมรู้สึกว่า ตรงนี้แหละที่ผมเข้าใจเขา ที่เหลือก็เป็นเรื่องการทำการบ้านเพิ่มเติม เพราะมันจะนอยด์มากนะ เวลาไปออกกองแล้วเราไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้มันคืออะไร เช่นการคั่วเกาลัดที่ดีมันเป็นยังไง? อะไรคือเกาลัดที่ดีและไม่ดี ไอ้เครื่องที่มันเป็นตู้กับกระทะมันต่างกันยังไง? สาหร่ายที่ดีมันเป็นยังไง? การที่เซเว่นฯ ไปตรวจโรงงาน แล้วโรงงานคุณจะผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐานมันตัดสินด้วยอะไร?





ถาม

ในแง่นึง ชีวิตของต๊อบก็เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่แหกกฎสังคมอยู่เหมือนกัน ติดเกม สอบตก เรียนไม่จบ แต่คุณทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับวัยรุ่น ในมุมนึงคุณไม่กลัวว่าวัยรุ่นจะเอาตัวอย่างไปใช้แบบผิด ๆ เหรอครับ?

ย้ง

น้องคนนึงที่เป็นคนเขียนบทที่นี่เขาเพิ่งดูคัตติ้งแรก เสร็จแล้วเขาบอกว่า เนี่ย น้องชายเขาเป็นอย่างนี้เลย! ติดเกมแล้วหนูกลัวว่าถ้ามันดูหนังพี่ มันจะเลิกเรียนหนังสือ (หัวเราะ) แต่ผมว่าอันนี้มันเป็นเรื่องที่เราต้องให้การศึกษากับคนดูหนังไทยแล้วล่ะ หมายถึงว่า ในชีวิตของต๊อบ หรือชีวิตของคนทุกคนมันมีสิ่งที่ทำผิดพลาด แล้วได้เรียนรู้อยู่เต็มไปหมด หนังเรื่องนี้มันก็มีแหละ ว่าการที่คุณไม่เรียน คุณจะประสบพบเจอกับอะไร? แล้วระหว่างทางก็จะมีคนบอกเขาว่า “มึงกลับไปเรียนหนังสือเถอะ ๆ ๆ” เต็มไปหมด

            ดังนั้นถ้าผมเป็นพี่ของเด็ก คนนั้นนะ ผมจะบอกแค่ว่า “จะเลิกเรียนก็ได้นะ แต่ห้ามหยุดเดิน” คือวันที่คุณอยู่ในโรงเรียน คุณอาจจะมีครูคอยประคอง คุณทำผิดก็อาจจะมีครูคอยสอน คอยแนะนำ มีเพื่อน วันที่คุณเดินออกนอกห้องเรียน คุณต้องเดินด้วยตัวเอง ซึ่งต๊อบเป็นแบบนั้น ต๊อบก็จะเจอการล้มที่มันเจ็บมาก จะโดนคนโกง คนหักหลัง ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้ แล้วเมื่อไหร่ที่เขาท้อและหยุดเดิน แสดงว่าเขาล้มเหลว แต่ถ้าเดินต่อไปมันก็จะเป็นแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

            หนังมันจะบอกอยู่แล้วกลาย ๆ ถ้าคนดูคิดตาม จะเห็นเลยว่า ไม่ได้แปลว่าการออกจากห้องเรียนมันจะเวิร์ค แต่บังเอิญเด็กคนนี้เขาเลือกเส้นทางของเขา แล้วเขาเชื่อ แล้วสุดท้ายเขาทำสำเร็จ เราไม่ได้บอกว่าการอยู่ในห้องเรียนไม่ดี เพราะในหนังเราก็จะมีตัวละครตัวนึงที่เป็นแฟนของต๊อบ ที่คอยบอกว่า “กลับไปเรียนเถอะ ๆ ๆ เราอยากให้เธอกลับไปเรียน” แล้วสุดท้ายผู้หญิงคนนี้ก็ประสบความสำเร็จเหมือนกัน คือพูดง่าย ๆ หนังไม่ได้บอกว่า เรียนหนังสือไม่ดี ไม่เรียนดีกว่า หรือ เรียนหนังสือแล้วดี ไม่เรียนหนังสือไม่ดี เราไม่ได้พูดแบบนั้น แต่เราพูดว่าถ้าคุณเจอสิ่งที่คุณเชื่อว่าคุณทำแล้วดี แล้วคุณออกไปทำมันอะไรก็ตาม แล้วอย่าหยุดเดิน มันน่าจะพาคุณไปสู่จุดที่ประสบความสำเร็จได้

ถาม

หนังเรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นหนังแนวใหม่ของจีทีเอชเลยไหมครับ

ย้ง

จะว่าใหม่ก็ใหม่นะ พี่เก้งบอกว่าไม่เคยเห็นหนังแบบนี้นานแล้ว หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะผมทำด้วยแหละ มันก็เลยออกมาไม่ดูเป็นคอเมดี้น่ะครับ แต่จะว่าไม่ใหม่ก็ได้นะ เพราะมันก็ยังเป็นหนังแบบที่เราคุ้นเคย หนังแบบที่เราเชื่อคือพวกเรารวมทั้งตัวผมเนี่ย รู้สึกว่า ถ้าจะทำหนังเรื่องนึง ผมอยากทำหนังที่ไม่ว่าตัวละครจะเจออะไร ในที่สุดมันต้องจบแล้วมีความหวัง เราไม่ทำหนังที่จบแล้วตัวละครสิ้นหวัง เพราะเราอยากให้คนดูมีกำลังใจลุกขึ้นเดินต่อไป

ถาม

สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคนดูบ้างไหมครับ

ย้ง

ผมอยากให้คนไทยเห็นความบันเทิงในหนังที่มันหลากหลาย ดราม่ามันก็บันเทิงได้ ความบันเทิงอาจจะไม่ได้เป็นแค่เสียงหัวเราะ หรือแค่เรื่องรักเบา ๆ เรื่องหนัก ๆ ก็เป็นความบันเทิงได้ เรื่องชีวิตของคนมันก็เป็นความบันเทิงได้ แค่อยากให้คนดูลองเปิดใจ ผมไม่รับประกันว่าหนังเรื่องนี้จะสนุก หรือเป็นหนังที่ดีหรือเปล่า? แต่สามสี่เดือนที่ผม นักแสดง และทีมงานที่ทำหนังเรื่องนี้ เราตั้งใจทำให้มันออกมาดี ดังนั้นมันคงจะเห็นความตั้งใจของคนทำ มันจะสนุก มันจะดีหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่คนดูต้องตัดสิน แค่อยากให้คนดูเข้าไปดูงานที่คนทำตั้งใจทำน่ะครับ



* ดูประวัติ ย้ง - ทรงยศ สุขมากอนันต์

* ดูอัลบั้มรูป ย้ง - ทรงยศ สุขมากอนันต์




 
 

Box Office

เรื่อง
ล่าสุด
รวม
1.
2.
3.
4.
5.
เรื่อง
ล่าสุด
รวม
1.
2.
3.
4.
5.

บทสัมภาษณ์ทั้งหมด

 
 
 

ติดตามหนังดี : Youtube Instagram Facebook Twitter  

MMM Digital Asset Co.,Ltd.
109 อาคารซีซีที ชั้น 2 ถนนสุรวงศ์
แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
Tel. 0-2234-7535    FAX. 0-2634-4269
E-mail: webmaster@nangdee.com   © 2006 nangdee.com
แผนที่ | sitemap | ติดต่อโฆษณา