นี่คือ"ภาพจำ"ที่ใครหลายคนอาจนึกได้ทันทีเมื่อพูดถึง "โรงแรมม่านรูด" และเช่นเดียวกับนักเขียนซีไรต์อย่าง "ปราบดา หยุ่น" ที่รู้สึกสนใจในความเป็น "เอกลักษณ์" และ "เฉพาะตัว" ของความเป็น "โรงแรมม่านรูด" จนเลือกนำมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์ส่วนตัวของเขาเอง และกลายร่างมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง Motel Mist หรือในชื่อ "โรงแรมต่างดาว"
ภาพยนตร์อิสระที่กำลังอยู่ในช่วง "เรียกสายตา" นักวิจารณ์ใน เทศกาลหนังนานาชาติร็อตเตอร์ดัม ครั้งที่ 55 (Motel Mist ผ่านการคัดเลือกเข้าประกวดสายหลัก Hivos Tiger Award โดยมีภาพยนตร์ จาก 8 ประเทศที่ผ่านการคัดเลือก และจะประกาศผลรางวัลในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559)
เรื่องราวที่เกิดหลังม่านรูด อันเป็นความเฉพาะของเมืองไทย เป็นอีกหนึ่งการซ่อนความหมายในหนังของปราบดา...ทับซ้อนด้วยอีกเรื่องราวในชีวิตจริงของนักเขียนรางวัลซีไรต์ผู้เคยผ่านงานเขียนบทภาพยนตร์มาบ้าง4-5เรื่องเป็นความรู้สึกลึกๆที่เขาเองยังแทบไม่เชื่อเช่นกันว่า "วันหนึ่ง" จะกล้าโดดเข้าไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เต็มตัว และที่แน่นอน ณ ขณะนี้ เขาติดใจในโลกที่ภาพนิ่งเคลื่อนไหว 24 เฟรม ต่อ 1 วินาทีเข้าให้แล้ว
ที่มาของ Motel Mist
ไอเดียมาจากการคิดเรื่องให้คนอื่นเอาเรื่องเราไปทำหนัง แต่เราไม่อยากให้เขาเอาเรื่องที่มีอยู่แล้วที่เคยเขียนจากนิยาย เรื่องสั้นของเรา แต่อยากเขียนใหม่ขึ้นมาเลย ก็เลยลองเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ปรากฎเขาชอบเรื่องอื่นของเราที่เคยเขียนไว้แล้วมากกว่า เราเสียดาย เพราะคิดเรื่องขึ้นมาแล้ว และคิดมาเป็นหนังด้วยไม่ได้คิดมาเป็นนิยาย เลยคุยกับเพื่อน ซึ่งเป็นตากล้องถ่ายหนังอยู่แล้ว เขารู้จักโปรดิวเซอร์ที่เคยทำงานด้วย เลยเอาไอเดียเรื่องย่อไปให้โปรดิวเซอร์และดูว่าจะมีพัฒนาการอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งก็ถึงจุดหนึ่งได้ไปคุยกับนายทุน คือทรูวิชั่น
ช่วยอธิบายหนังของปราบดาให้ฟังคร่าวๆ
เรื่องนี้มีตัวละคร แค่ 6 ตัว เรื่องเกิดขึ้นวันหนึ่ง เรื่องทั้งหมดมันจบภายใน 2 ชั่วโมงตามเวลาจริงของเหตุการณ์ เริ่มจากในวันนั้นมีข่าวบันเทิงที่เป็นกระแสว่ามีอดีตดาราเด็กคนหนึ่งหายตัวไปจากบ้าน และแม่เขามาแถลงข่าวว่าลูกหายไป โดยที่หายไปคิดว่าหายไปเอง เพราะแม่บอกว่าลูกคิดว่าตัวเองสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว และมนุษย์ต่างดาวจะมารับตัวไปนอกโลก ก็เลยหนีออกจากบ้านเพื่อไปหามนุษย์ต่างดาวให้มารับตัว ดังนั้นข่าวนี้ก็เหมือนเป็นที่พูดถึงกันในสื่อขณะเดียวกันก็มีตัวละครเป็นเสี่ยคนหนึ่งไปรับเด็กมาจากโรงเรียนและพามาโรงแรมม่านรูด ซึ่งเขามีห้องของเขาเองในนั้นเรื่องก็เกี่ยวข้องตัวละครเสี่ยกับเด็กผู้หญิงสาวที่เสี่ยพามาและดาราเด็กที่หายไปมาเช็คอินโรงแรมนี้่อยู่ห้องข้างกันตัวพนักงานโรงแรมก็มีหน้าที่คอยบันทึกภาพให้เสี่ยระหว่างเสี่ยมีอะไรกับเด็กนักเรียนมัธยมพล็อตคือความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงแรม MotelMist ที่ห้องอยู่ติดกัน
พล็อตเรื่องราวในโรงแรมม่านรูดนี้เป็นเรื่องคิดไว้นานแล้ว หรือเพิ่งมาในจังหวะไหน
มันปะติดปะต่อกันครับ บางส่วนเป็นสิ่งที่คิดไว้นานแล้วตั้งแต่สมัยกลับเมืองไทยใหม่ๆ ช่วงปี ค.ศ.1997-1998 ตอนนั้นมีความสนใจในสถาปัตยกรรมของโรงแรมม่านรูด เพราะค่อนข้างเป็นความเฉพาะสังคมไทย เป็นกล่องซองๆ คนแปลกหน้าไม่เห็นกันว่าใครมาพักและปิดม่าน แม้แต่คนที่เป็นเจ้าของโรงแรม คนดูแลโรงแรมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในนั้น โรงแรมลักษณะนี้เท่าที่เคยเห็นมันจะมีอะไรคล้ายอยู่ที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่ไม่ใช่รูปแบบแบบของไทย ที่เป็นซองและมีม่านอยู่ เรารู้สึกมันน่าสนใจ วิธีการก็แปลกเข้าไปในซองและปิดม่าน มันมีเอกลักษณ์อะไรบางอย่างที่อยู่ในวัฒนธรรมเรา
จึงคิดว่ามันน่าสนใจดีถ้าจะเขียนเรื่องอาจจะเป็นเรื่องทริลเลอร์(เขย่าขวัญ)อะไรสักอย่างซึ่งเหตุการณ์เกิดใน3ห้องนี้ และคน 3 คนต้องมาเกี่ยวข้องกันด้วยเหตุผลอะไรบางประการ ความที่เป็นคนชอบเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่ต้องมีเหตุการณ์ชีวิตมาเชื่อมกันการสร้างสถานการณ์ให้อยู่ในเวลาเดียวกันและเกิดขึ้นในที่ติดกันมันก็ดึงดูดเรามาตลอดว่าอยากเขียนเรื่องแบบนี้
ให้นิยามแนวหนัง Motel Mist เป็นอย่างไร
ทริลเลอร์ไซไฟประมาณหนึ่ง มีประเด็นมนุษย์ต่างดาว มีทริลเลอร์นิดหน่อย โดยรวมอารมณ์ของเรื่องเป็นหนังดราม่า
ก่อนนี้มีที่ "ปราบดา" ให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ต่างประเทศพูดถึงหนังเรื่องนี้เชื่อมโยงถึงกระบวนการยุติธรรมและปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยมีการพูดถึงเอเลี่ยนหรือมนุษย์ต่างดาวมันเกี่ยวกันอย่างไร
ประเด็นสิทธิมนุษยชนเหมือนสัญลักษณ์ที่อยู่ในหนังคนดูต้องตีความมากกว่า ผมเชื่อวามันจะมีผลไม่เหมือนกันกับกลุ่มคนดูที่ต่างกันไปเช่นคนต่างชาติดูอาจไม่เก็ทว่าเรากำลังพูดถึงอะไรในสังคมไทยบ้างแต่คนไทยดูบางกลุ่มอาจเก็ททันทีกลุ่มที่ไม่เก็ทอาจเพราะไม่ได้คิดประเด็นเหล่านี้อยู่ดังนั้นประเด็นพวกนี้ไม่ได้ชัดมากไม่ใช่ธีมหลักของเรื่องมันแค่บางคนอาจจะเชื่อมโยงมันได้เราในฐานะคนทำเราก็คงต้องบอกว่ามีสอดใส่เอาไว้ตามความสนใจของเราเองมันก็เหมือนเป็นคอมเมนต์เกี่ยวกับสังคมของเราที่มีต่อบรรยากาศและสภาพความเป็นอยู่ในบ้านเราตอนนี้
ตอนทดลองฉายให้ต่างชาติดูส่วนใหญ่มองไปมุมไหน
คิดว่าเขาคงไม่ได้เก็ทเรื่องภาพสะท้อนสังคมไทยเท่าไหร่เขาคงดูในแง่วิธีเล่าเรื่อง
การแคสติ้งนักแสดงในภาพยนตร์ Motel Mist เป็นอย่างไรบ้าง
เรื่องนี้นักแสดงสำคัญ เพราะเน้นบทสนทนาและเน้นการแสดงที่ค่อนข้างต้องทุ่มเทนิดนึง เพราะมีเรื่องเปลืองตัว และความรุนแรง โดยนักแสดงมีทั้งที่แคสติ้งมาใหม่ และคนที่มีประสบการณ์การแสดงมาแล้ว ก็มีเสียวนิดนึงตอนแคส เรารู้ว่าเป็นบทที่ยาก และถ้าไม่ได้คนที่กล้าแสดงให้เรา จะไม่ถึงสิ่งที่เราต้องการ อันนี้เป็นอีกเรื่องที่โชคดีมาก เพราะอย่างตัวเอกผู้หญิงเขาไม่มีประสบการณ์อะไรเลยแต่ข้อดีคือเขาเป็นคนสนใจดูหนังมากเพราะฉะนั้นเขาก็จะค่อนข้างเก็ทว่าเราต้องการอะไรเราอยากเห็นภาพประมาณไหน
พอบอก ปราบดาทำหนัง อาจมีแฟนคลับหรือผู้คนจากแวดวงหนังสือสนใจอยากรู้วิธีให้มุมมองของคุณในหนัง หนังของปราบดาดูเอาเพลิดเพลินได้ใช่ไหม
สำหรับตัวเองดูแล้วเพลิดเพลิน คือหนังที่บันเทิง อันนี้ผมคิดเองนะ คือไม่ใช่หนังดูแล้วจะเบื่อ
เป้าประสงค์ทำหนังอยากสื่อสารกับคนหมู่มากอยู่ใช่ไหม อาจดูซอฟท์กว่าตอนเขียนหนังสือ
รู้สึกว่าการนำเสนอด้วยภาพมันน่าจะง่ายกว่าการอ่านระดับหนึ่ง อีกอย่างคือกลุ่มคนที่สนใจภาพยนตร์กับกลุ่มสนใจวรรณกรรมไม่ใช่กลุ่มเดียวกันเสมอไปตอนถ่ายทำอยากจะสื่อสารกับคนหมู่มากมากกว่าที่จะจำกัดกลุ่ม แต่แน่นอนสิ่งที่เราพูดเขียนในหนังหรือภาพที่ออกมาบางอย่างก็เป็นนามธรรมก็อาจจะมีกลุ่มคนที่ดูแล้วบอกว่าไม่เข้าใจแต่คำถามที่มีคืออาจจะประมาณว่าแล้วทำทำไม(หัวเราะ)ก็เห็นคนชอบถามเกี่ยวกับงานเขียนว่าเขียนอะไรเขียนทำไมหรือต้องการบอกอะไรซึ่งบางทีไม่รู้เราก็ดูหนังหลายเรื่องที่เรารู้สึกว่าไม่ได้บอกอะไรเป็นพิเศษก็ดูเพื่อความบันเทิงไม่ได้จำเป็นว่าเราจะต้องชอบหนังในแนวเดียวกับหนังสือที่เราชอบ
ดังนั้นเราก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแนวหนังเราอยากทำได้หลายแบบเหมือนเวลาเราไปดูหนังแอคชั่นสนุกเราก็คิดว่าอยากทำหนังแอคชั่นดูนะว่าเราจะทำได้ไหมอย่างเจมส์ บอนด์เราก็อยากทำถ้าเรามีโอกาส(ยิ้ม)
เป็นช่วงวัยของความสนใจหรือไม่ที่หันมาสนใจศิลปะภาพเคลื่อนไหว
มันเป็นช่วงวัยด้วยส่วนหนึ่ง ตอนเราเริ่มทำงานใหม่ๆไม่มีประสบการณ์สื่อสารกับคนเลย ตอนช่วงต้นของวัยทำงานไม่ได้คิดจริงจังว่าอยากทำหนังของตัวเอง เพราะรู้ว่าไม่ง่าย แต่มีงานอื่นๆที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น เขียนหนังสือ หรืองานออกแบบ ไม่ได้เป็นงานที่ต้องเริ่มด้วยทุนมากมายหรือไม่ได้ต้องมีทีมงานมาก ก็เลยไม่เคยจริงจังเพราะคิดว่ามันคงยาก แต่พอเราทำงานมาเกือบ 20 ปี เวลาที่ผ่านมาเราต้องร่วมงานกับคนอื่นมาบ้าง รู้จักปรับตัวในการเข้าสังคมบ้าง เวลาขอเงินก็โม้เป็นบ้าง (หัวเราะ) พอเรามาถึงวันนี้รู้สึกพร้อมในการทำสิ่งเหล่านี้มากขึ้น
พอได้ทำจริงการสื่อสารผ่านการทำหนัง ต่างกับงานเขียนหรือไม่
มันต่างมากและเป็นความต่างที่ทำให้เราเคยกลัวมันในตอนแรก ที่เคยคิดว่าชีวิตนี้คงไม่ได้ทำหนังของตัวเองเพราะเราไม่ถนัดทำงานกับคนหมู่มากไม่ถนัดไปสั่งคนอื่นให้เขาทำโน่นนี่ไม่ถนัดไปหาเงินคุยกับนายทุน ขณะที่เขียนหนังสือแค่นั่งอยู่คนเดียวคิดจากจินตนาการของเราเองงานอย่างนี้คิดว่าเป็นตัวเรามากกว่าแต่พอเริ่มทำ(ภาพยนตร์)เราพบว่ามันอาจจะเป็นวัยเรารู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น เรารู้สึกว่าพร้อมที่จะไปคุยกับคน พร้อมที่จะร่วมงานกับคนอื่น มันมีช่วงเวลาจากวัยรุ่นจนถึงตอนนี้มีหลายอย่างที่คลี่คลายไป อย่างตอนกำกับฯอยู่ก็พบว่าชอบมาก ชอบการกำกับหนังและชอบการทำงานร่วมกับคนอื่น เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทำให้เรารู้สึกว่าไอ้ที่เราเคยคิดนี่ไม่จริง แต่เราก็ทบทวนดูแล้วเพราะได้ทำงานกับทีมที่ถูกจริตกับเราด้วย บรรยากาศถึงได้ราบรื่นไม่ค่อยมีปัญหา
ทำสเกลภาพยนตร์นอกจากพาร์ทศิลปะ เราดีลกับมุมธุรกิจด้วยอย่างไร
ต้องมีคุณสมบัติส่วนตัวบางอย่างเหมือนกันที่จะไปคุยกับคนที่เราจะไปขอเงินและให้เขารู้สึกดีและอยากจะให้เงินเราซึ่งตัวเองก็คิดว่าคงยังทำได้ไม่ดีมากแต่ผู้กำกับหลายคนเขาเก่งเรื่องนี้ หมายถึงเขาสามารถคุยแล้วคนที่อยากจะมาลงทุนรู้สึกว่าเป็นหนังที่น่าดูน่าสนุกอย่างมีส่วนร่วม นี่ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของการทำหนัง ซึ่งเมื่อก่อนเรานึกไม่ออกเราจะไปแบบนั้นได้อย่างไร เมื่อก่อนแค่เราคิดว่าถ้าเราต้องพูดก็คงพูดแค่เรื่องมีอย่างนี้(หัวเราะ)อยากทำรึเปล่า(หัวเราะ)เราไม่รู้ว่าเราจะโน้มน้าวคนได้อย่างไรอันนี้ไม่ได้บอกว่าตัวเองทำได้เต็มที่ได้ดีแต่คิดว่าไม่ได้เป็นขั้นตอนที่ทำให้เราลำบากใจเหมือนเมื่อก่อนดังนั้นการทำหนังเราต้องมีความสามารถในการสื่อสารกับคนได้ระดับหนึ่งถ้าเราไม่สามารถสื่อสารกับคนได้เลยมันก็อาจไม่เหมาะกับการทำหนังหรือเปล่าก็เหมือนเป็นบททดสอบกับตัวเองด้วย
เป็นผู้กำกับฯต้องคอนโทรลคนอื่น มีรายละเอียดมากมาย เรามีบุคลิกไปทำอย่างนั้นกับคนอื่นได้หรือไม่
เมื่อก่อนคิดว่าเราทำไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติเป็นคนที่คิดว่าคนเราก็ควรปล่อยให้เขาได้ทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ชอบบังคับคน แต่พอมันเป็นงานเป็นหนัง หน้าที่ผู้กำกับคือจริงๆแล้วคือคนที่ทุกคนรอการตัดสินใจว่าตกลงพี่จะเอาแบบนี้ใช่ไหม ตกลงแอคติ้งแบบนี้ดีแล้วหรือยัง หรือว่ายังไม่พอ ต้องการอะไรอีก ต้องพูดคัท หรือแอคชั่น อันนี้มันอาจเป็นเรื่องทางจิตวิทยา แต่ปรากฎว่าเราก็ชอบ (หัวเราะ) เพียงแม้ในช่วงเวลาสิบวันที่เราได้ชัดเจนอะไรบางอย่างกับคนก็ดีเหมือนกันได้ตัดสินใจให้คนได้ (ยิ้ม)
แต่จริงๆแล้วประสบการณ์ครั้งนี้เหมือนทำงานด้วยกันมากกว่า คนอื่นมีประสบการณ์มากกว่าเรา คนนั่งข้างๆเรานั่งหน้าจอมอนิเตอร์มีประสบการณ์ทำหนังมาแล้วหลายสิบเรื่อง เพราะฉะนั้นเราก็ฟังเขา และมันรู้สึกดีที่มีคนแคร์กับงานสร้างสรรค์อันนี้พอๆกับเรา
คือเรากลัวดราม่าไปเอง เรามักจะได้ยินเรื่องราวการทำงานกับคนเยอะมันวุ่นวาย จะมีใครมาร้องห่มร้องไห้ใส่เราไหม หรือคนทะเลาะกันในกองถ่าย พวกนี้เราไม่อยากจะต้องไปเยียวยาให้ เราอยากทำงานอย่างเดียว เราอยากโฟกัสกับงาน แต่ปรากฎเราก็ผ่านมาอย่างราบรื่นไม่มีเหตุการณ์เหล่านั้นเท่าไหร่ เราก็เออน่าจะแมเนจ(จัดการ)ได้
หลังจากนี้ติดใจทำหนังหรือยัง
ติดใจครับ เขียนแล้ว (หัวเราะ) ก็ต้องเริ่มหาเงินแล้ว ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากทำหนังปีละเรื่อง ตอนนี้ก็พยายามที่จะทำระบบให้เป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ขั้นตอนการขอทุนมันยาก ขึ้นอยู่กับเราจะได้หรือเปล่า แต่ที่ทำได้คือมีเรื่องไว้ก่อน มีบทเพื่อส่งให้นายทุนอ่าน พวกนี้เราสามารถทำได้
แสดงว่าสนุกค้นเจอเลยตั้งเป้าจะทำปีละเรื่อง
อาจจะไม่ใช่แค่รู้สึกชอบเป็นผู้กำกับแต่เรารู้สึกว่ามันเหมือนกับตอบโจทย์ในแง่การทำงานสร้างสรรค์ในแบบที่เราคิดว่ามันควรจะเป็นและรู้สึกดีที่ได้ร่วมงานกับคนที่่มีความต้องการอยากเห็นอะไรคล้ายกันมีความชอบหนังในปริมาณที่มากพอที่จะเห็นว่ามีคุณค่าที่จะเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง
งานเขียนเป็นอย่างไร หยุดไปก่อนหรือไม่
ไม่ได้หยุดครับแต่ที่ผ่านมามีงานอื่นเยอะเลยไม่มีเวลาเขียน แต่ความตั้งใจก็ยังอยากเขียนไปด้วยควบคู่กับการทำหนังถ้าได้ทำหนังอย่างต่อเนื่องก็จะเขียนอย่างต่อเนื่องไปด้วยกัน
สนใจหนังสั้นหรือไม่
ไม่ค่อย เมื่อก่อนสมัยเรียนเคยทำหนังสั้น แต่เรารู้สึกว่าทำหนังก็เหนื่อย หมายถึงขั้นตอนมันเยอะ ทำทั้งทีคือทำยาวไปเลยเถอะ(หัวเราะ)คือจะมาสั้นทำไมไม่เข้าใจ คือไหนๆจะเหนื่อยก็ให้มันยาวไปเลย เพราะการทำหนังส่วนใหญ่ ถ้าเราจะทำแบบมีเรื่องราว มีนักแสดง มันทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ต่อให้เป็นหนังสั้นก็ต้องทำงานร่วมกับทีมงาน และกับการเขียนเรื่องมาเรื่องหนึ่งเพื่อถ่ายให้หนังออกมา 5 นาที 10 นาที 20 นาที ก็รู้สึกว่าอีกนิดเดียวมันก็ชั่วโมงนึงแล้ว (หัวเราะ) อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว หนังสั้นก็เข้าใจ หลายคนทำหนังสั้นมันก็มีศิลปะในแบบของมัน สำหรับเราถ้าเราจะอินเวสต์ (ลงทุน) เวลาไปกับการเขียนบท การหากองถ่ายก็อยากทำให้ครบโพรเซส (กระบวนการ) เป็นหนังยาวไปเลย เพราะมีที่ไปต่อได้มากกว่า ส่งไปเทศกาลได้ ฉายในโรงได้ คือเรามองเป็นงาน ไม่ใช่งานอดิเรก
พอมีประสบการณ์ทำหนังเอง มองวงการอุตสาหกรรมหนังไทยเป็นอย่างไร
มีทั้งความเข้าใจและความเสียดาย คือเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ประมาณหนึ่ง เพราะสังคมเราก็ประมาณนี้ ความสนใจที่มีต่อศิลปวัฒนธรรมก็ไม่ได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนังสือ หนัง ดนตรี ทุกวันนี้เล็กลงเยอะ และหนังที่จะประสบความสำเร็จหรือมีกำลังในการโปรโมทเยอะๆก็ต้องเป็นหนังสตูดิโอใหญ่ ซึ่งก็มีไม่กี่เจ้าที่ประสบความสำเร็จมันก็เหมือนมีการโมโนโพลี(ผูกขาด)กลายๆว่าถ้าอยากจะสำเร็จหรือตั้งเป้าว่าอยากให้หนังมีรายได้ประมาณไหนต้องไปในแนวทางนั้นหรือต้องทำกับสตูดิโอนั้นในขณะที่คนทำหนังอิสระหรือคนทำหนังที่อยากเห็นความหลากหลายของหนังมันไม่มีพื้นที่ให้ทำเท่าไหร่หรือไม่ก็ต้องทำเองซึ่งมันก็เหนื่อยมากในการทำหนังเองไม่ใช่เรื่องเล่นๆดังนั้นหนังทั่วไปหนังเล็กๆหรือแม้แต่หนังแบบของผมที่อาจมีคนอยากไปดูสักหน่อยว่าตานี่ทำหนังเป็นอย่างไรมันก็คงมีแต่ก็อาจเป็นกลุ่มที่เล็กมากจริงๆอาจเป็นกลุ่มที่เล็กกว่าคนอ่านหนังสือด้วยซ้ำ
รอบปี 2558 ที่ผ่านมามีหนังไทยเรื่องไหนที่ชอบ
ปกติไม่ได้ดูเยอะ แต่ที่ดูมีฟรีแลนซ์ กับ สแนป ซึ่งชอบทั้งสองเรื่อง ฟรีแลนซ์คล้ายเป็นทางเลือกอันหนึ่งของแมสที่ดี มันก้ำกึ่งระหว่างหนังที่แมสมากๆกับหนังออกในแนวอาร์ตนิดหน่อย ซึ่งคิดว่าที่ผ่านมา บ้านเราไม่ค่อยมีหนังที่ออกมาสำหรับพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่ไม่อาร์ตไปเลย ก็แมสไปเลย พอเต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ทำแนวฟรีแลนซ์และประสบความสำเร็จพอสมควรคิดว่าอยากเห็นหนังสเกลนี้ออกมาอีก มีดาราที่คนรู้จักเล่น แต่เนื้อหาไม่ต้องตามสูตรสำเร็จเท่าไหร่ และบันเทิงด้วย ตลกด้วย ตรงนี้น่าจะมีมากขึ้น
ที่มา Prachachat.net