ข่าว > ข่าวดาราทั้งหมด > ข่าวดาราไทย

"อุรุพงศ์ รักษาสัตย์" กับผลงานเรื่องล่าสุด "เพลงของข้าว"

26 ม.ค. 2558 09:31 น. | เปิดอ่าน 1389 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 

ผลงานล่าสุดของผู้กำกับมือรางวัลระดับนานาชาติจากผู้สร้าง "สวรรค์บ้านนา" ที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรติผู้กำกับยอดเยี่ยมสุพรรณหงส์ทองคำประจำปี 2554 ที่ชื่อ "อุรุพงศ์ รักษาสัตย์" โดย "เพลงของข้าว" เป็นการนำเสนอมุมมองวิถีของข้าวที่มีต่อวิถีของชาวนาในพื้นที่ทั่วประเทศไทย ด้วยการถ่ายทำที่ตื่นตาตื่นใจ สร้างความประทับใจผ่านชีวิตเปี่ยมสีสันของผู้คนที่ร่วมกันเฉลิมฉลองวาระต่างๆ ของวิถีแห่งข้าว ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี

"อุรุพงศ์ รักษาสัตย์" ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่น่าจับตามองมากที่สุดในเวลานี้ เขาเกิดในครอบครัวชาวนาใน อ.เทิง จ.เชียงราย เมื่อจบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ อุรุพงศ์ได้เข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในการทำงานด้านตัดต่อในภาพยนตร์ไทยหลายๆ เรื่อง แต่ในที่สุด เขาได้เลือกหันหลังจากวงการอย่างเงียบๆ และมุ่งมั่นสู่การทำงานภาพยนตร์อิสระ โดยมุ่งหวังว่าภาพยนตร์ของเขาจะมีโอกาสนำเสนอเรื่องราวของชาวนาไทย อันเป็นเรื่องราวที่เขาใกล้ชิดมากที่สุด

"คงเป็นเพราะยังมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องราวของข้าวหลงเหลืออยู่ หลังจากทำภาพยนตร์ เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ และสวรรค์บ้านนา  ผมจึงจำเป็นต้องทำต่อให้หมดความแคลงใจ เหมือนคนทำหนังไตรภาคอื่นๆ คือถ้าไม่ครบสามตอน มันเหมือนกับว่าจะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ต้องมีเรื่องที่สามเพื่อปิดฉาก ส่วนวันข้างหน้าจะหวนคืนมาทำเรื่องราวเกี่ยวกับข้าวอีกหรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องของอนาคตอยู่

เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ เป็นสารคดีผสมเรื่องแต่ง แต่แบ่งเรื่องราวข้างในเป็นบทเล็กๆ ที่ค่อนข้างชัดเจน ส่วน สวรรค์บ้านนา เป็นเรื่องแต่ง แต่ใช้รูปแบบการถ่ายทำแบบสารคดี แม้ว่ากลวิธีการพัฒนาเรื่องจะกลับตาลปัตรกันก็ตามที

สำหรับ เพลงของข้าว ผมตั้งใจที่จะสร้างภาพยนตร์ที่มีลักษณะผ่อนคลายลงไป และเปิดเผยมากขึ้นในแง่ของการทำงานโดยใช้รูปแบบของสารคดีแบบ non-preconception  ที่เป็นการบันทึกความจริงที่เผชิญกับเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา สำหรับผม เป็นการทำให้สารคดีหายใจได้ด้วยตัวของมันเอง ราวกับว่าเราไม่ได้แต่งมันขึ้นมา ทว่า เราแค่บันทึกชีวิตที่มีอยู่ของมันมากกว่า

การทำงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เช่น การวาดภาพดอกไม้ด้วยสีน้ำ อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง ภาพดอกไม้ที่วาดเสร็จแล้วบนกระดาษ หรือห้วงขณะที่ศิลปินกำลังจุ่มพู่กันลงในถาดสีและป้ายบนประดาษ จนปรากฏภาพดอกไม้บนนั้น ภาพดอกไม้นั้นอาจจะสวยต้องตาต้องใจคนดู แต่โมงยามของการวาดนั้นก็สำคัญกับศิลปินเช่นกัน แล้วการสร้างภาพยนตร์หล่ะ เราหวังผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นภาพยนตร์แล้ว หรือว่าเราทำเพราะมันเป็นชีวิตของเรา เพื่อที่เราจะได้สัมผัสกับห้วงขณะของการติดต่อกับผู้คน กับแสงที่ตกกระทบกับเลนส์และมาสู่ดวงตาเราในที่สุด กับชีวิตบนโลกที่เคลื่อนตัวอยู่ตรงหน้าเรา และความน่าจะเป็นอันหลากหลายของชีวิต ของจักรวาลที่อาจจะเกิดตรงหน้า ณ วินาทีนั้น เราคงไม่หวังสิ่งใดมากไปกว่านี้อีกแล้ว

จริงอยู่ที่เราต้องมีกรอบในการทำงาน เราวางกรอบให้มัน แต่กรอบนั้นอย่างน้อยควรจะมีช่องเล็กๆบ้างเพื่อระบายอากาศ ให้มันสัมผัสกับอากาศภายนอก ให้มันหายใจเอาอากาศเดียวกันกับผู้คนข้างนอก ศิลปะนั้นจึงจะสื่อสารกับผู้คนข้างนอก ผู้คนร่วมโลกได้รู้เรื่อง ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว กรอบนั้นจะเป็นกรงเหล็กที่กักขังศิลปินไว้กับโลกของตัวเองเสียเอง โดยตัดขาดกับความจริงข้างนอก"

"เพลงของข้าว" เปรียบประดุจท่วงทำนองของบทเพลงแห่งข้าว ที่ผู้คนแต่ละพื้นที่ช่วยกันประสานท่วงทำนองแม้สำเนียงจะแตกต่างกัน  แต่หัวใจของเสียงนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน

: เพลงของข้าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เพลงของข้าว
  • "The Song Of Rice - เพลงของข้าว" ยกระดับหนังไทย ร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ
  •  
     
     
    ร่วมแสดงความคิดเห็น
     
    ชื่อ :
     
    ความคิดเห็น :