ข่าว > ข่าวดาราทั้งหมด > ข่าวดาราไทย

มุมมองต่อวงการภาพยนตร์ของ "พิมพกา โตวิระ" ผกก.หนังชายแดนใต้เจ้าของรางวัล Asian Future จากงานเทศกาลหนังโตเกียว

26 พ.ย. 2558 10:07 น. | เปิดอ่าน 1391 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 

"มหาสมุทรและสุสาน" ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลยอดเยี่ยมสาย "Asian Future" จากเทศกาลภาพยนตร์ Tokyo International Film Festival 2015 โดยเรื่องราวในภาพยนตร์เล่าถึงตัวละครที่เป็นคนมุสลิมในกรุงเทพเดินทางไปเยี่ยมญาติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งทางสำนักข่าวมติชนออนไลน์ได้สัมภาษณ์ "พิมพกา โตวิระ" ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "มหาสมุทรและสุสาน" ถึงแนวคิดที่มา มุมมองต่อวงการภาพยนตร์ และสังคมโลก

ทำไมถึงสนใจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้?

เมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว เคยเดินทางลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และด้วยความที่มีเพื่อนเป็นคนมุสลิม หลายๆคนก็คุยกันว่าเกิดอะไรขึ้นซึ่งเราก็อยากรู้ เราเลยเดินทางลงไปดู ได้เจอคนในพื้นที่ก็รู้สึกว่ามันมีความน่าสนใจ

ส่วนเพื่อนที่เป็นมุสลิมในกรุงเทพซึ่งได้กลายเป็นผู้ร่วมเขียนบทด้วยคือ คุณก้อง ฤทธิ์ดี ให้ความเห็นว่ามุสลิมในกรุงเทพกับมุสลิมภาคใต้ไม่เหมือนกันคือเขาเคยคิดว่ามุสลิมกรุงเทพถ้าลงไปในภาคใต้แล้วเจอคนมุสลิมในพื้นที่แล้วจะเหมือนกัน แต่จริงๆมันไม่ใช่ เราเลยคิดว่าอยากทำหนังที่มันมีเรื่องราวเหล่านี้

มุมมองต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อน-หลังการสร้างภาพยนตร์?

ตอนแรกที่ลงไปถามว่ากลัวไหม กลัว เพราะข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับมันทำให้เรากลัว แต่พอลงไปจริงๆ ลงไปบ่อยๆ ช่วงหลังก็เริ่มไม่กลัว คือเราลงไปหลายๆครั้ง เราเริ่มเข้าใจว่าการก่อความไม่สงบเกิดจากอะไร หมายความว่าเขามีเป้าหมายอะไร อันนี้เราทราบ ชาวบ้านเขาทำอะไรเราก็ทำ ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีปัญหาอะไร

จริงๆแล้วที่น่าสนใจคือคนในพื้นที่เขาก็มีวิถีชีวิตปกติคือเขาก็ทำทุกอย่างให้มันปกติเพราะเขารู้สึกว่าเขาต้องอยู่ตรงนี้ นั่นคือสิ่งที่เรามองเห็น คือเขาอาจจะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย แต่เขาก็ต้องมีชีวิตตรงนั้นต่อไป

แต่ในขณะเดียวกัน มันไม่ใช่แค่เราระแวงเขา ในบางพื้นที่ที่เราเข้าไปเขาก็ระแวงเราเหมือนกัน มันเหมือนกับเป็น "ภาวะของการระแวงซึ่งกันและกัน" สิ่งนี้เราก็พบอยู่บ่อยๆเหมือนกันซึ่งก็ต้องระมัดระวัง แต่โดยส่วนตัวเราชอบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรู้สึกว่ามันมีพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติค่อนข้างเยอะ แล้วผู้คนก็ยังมีวิถีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

"มหาสมุทรและสุสาน" จึงเป็นการพยายามทำความเข้าใจคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้?

คือเราไม่ได้ทำหนังเพื่อจะบอกว่า เราสามารถแก้ปัญหาของคนในพื้นที่ เพราะเราก็เป็นคนนอก หนังเรื่องนี้ก็ทำจากคนนอก คนที่ไม่รู้หรอกว่าปัญหาในพื้นที่นี้จริงๆแล้วมันคืออะไร คือการที่เราลงไปหลายๆครั้งเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราเข้าใจปัญหาในพื้นที่จริงๆหรือเปล่า

แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ "บางทีความกลัวมันไม่ได้กลัวเพราะเรารู้หรือเราเข้าใจ แต่เรากลัวเพราะเราถูกทำให้รู้หรือเราเข้าใจอีกแบบหนึ่ง" เพราะฉะนั้นหมายความว่าประสบการณ์ของการไปเจอเหตุการณ์ต่างๆบางทีเรากลัวเพราะเราคิดไปก่อนหน้าว่าตรงนี้จะเกิดอันนี้ตรงนั้นจะเกิดอันนั้น เพราะเราได้รับข้อมูลข่าวสาร แต่บางทีข้อมูลข่าวสารมันอาจจะหวิ่นๆ บิดไปบิดมา แต่จริงๆเราอาจจะไม่ได้เข้าใจมันด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นหนังมันจะบอกว่า เราทุกคนเป็นคนนอกของพื้นที่ที่มีปัญหาทั้งนั้นแหละ มันไม่มีใครที่เป็นคนในได้ ถ้าเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น และการที่เราเป็นคนนอก เรามองปัญหาจากอะไร เรามองปัญหาจากคนนอกที่รับข้อมูลข่าวสารหรือเปล่า หรือเรามองปัญหาจากการที่มีคนสร้างภาพให้เราเข้าใจแบบนั้นหรือเปล่า

แต่การแก้ปัญหาจริงๆในแต่ละพื้นที่มันควรจะเป็นการที่ทำให้คนในพื้นที่เขาร่วมกันแก้ปัญหาหนังพยายามจะพูดเรื่องนี้มากกว่าและจริงๆหนังไม่ได้พูดแค่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หนังพูดถึงปัญหาหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่แล้ว

ส่วนตัวละครในเรื่องก็มีปัญหาของตัวเองกันทุกคนอยู่แล้วซึ่งพวกเขาแก้ปัญหากันไม่ได้เพราะการที่จะแก้ปัญหาได้มันคือการที่เขาต้องกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาของเขาจริงๆหนังพยายามจะพูดเรื่องนี้

มองอย่างไรกับเหตุการณ์ความไม่สงบทั่วโลกในขณะนี้?

คือจริงๆแล้ว สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก ที่ไหนก็เกิด แต่คำถามคือถ้าเราไม่อยากให้มันเกิด เราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ตรงจุด สิ่งที่เกิดขึ้นในปารีส มันดูเหมือนว่ามันเหมือนกับที่อื่นๆ แต่จริงๆมันไม่เหมือน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันอาจดูเหมือนๆกันด้วยรูปแบบ แต่จริงๆมันไม่เหมือน

คือเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองปัญหาว่ามันเหมือนกัน เราจะใช้มุมมองในการแก้ปัญหาเหมือนๆกันได้ เราจะคิดว่านี่คือปัญหาศาสนา นี่คือปัญหาพื้นที่ แต่เอาเข้าจริงแล้วปัญหาในแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน ถ้าเรามองว่ามันเป็น Global เรามองว่ามันเหมือนกัน เราจะแก้ปัญหาเหมือนกัน และสุดท้ายมันก็จะเป็นอย่างทุกวันนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่ง "มหาสมุทรและสุสาน" พูดเรื่องนี้อยู่

ตอนนี้สิ่งที่มันน่ากลัวกว่านั้นก็คือว่า เมื่อไหร่ที่เรามองว่าปัญหามันเหมือนกัน อันนั้นน่ะน่ากลัว เพราะเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้าเรามองจากพื้นฐานความคิดว่าทุกอย่างมันเหมือนกัน เราจะแก้ปัญหาทุกอย่างเหมือนๆกัน แต่มันต้องมองจากรากเหง้าของปัญหา และมองจากรากเหง้าคนในพื้นที่จริงๆ ว่าความขัดแย้งจริงๆมันคืออะไร มันเกิดจากแค่ศาสนาหรือเปล่า มันมาจากชาติพันธุ์หรือเปล่า เศรษฐกิจหรือเปล่า วัฒนธรรมหรือเปล่า ทุกอย่างมันรวมกันและทุกที่มันมีปัญหาหมด แต่เราจะเข้าถึงปัญหาแบบไหน จะแก้ปัญหาแบบไหน นี่คือสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันจะต้องคิด!

เล่าถึงเหตุผลที่กรรมการเลือกให้รางวัลกับภาพยนตร์เรื่องนี้?

เขาบอกว่าหนังเรื่องนี้มัน Strong (แข็งแรง) มันมีความน่าสนใจทั้งตัวภาษาและภาพยนตร์มันเล่าได้อย่างน่าสนใจในขณะเดียวกันมันก็สามารถถ่ายทอดบริบททางการเมืองที่น่าสนใจ และมีความโดดเด่นชนิดที่ว่าหนังได้พาคนดูไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกที่มีมุมมองในการทำความเข้าใจโลกอีกแบบหนึ่ง

ในฐานะผู้กำกับ มองว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่งควรจะทำหน้าที่อะไรในสังคมบ้าง?

ในสมัยก่อนที่ทำหนังเรามองว่าหนังเป็นอะไรที่เราอยากจะเล่าอะไร ให้คนได้รับทราบอันนี้มันเป็นมุมมองที่เราเข้ามาทำหนังใหม่ๆแต่ตอนนี้พอเราผ่านช่วงเวลามาสักระยะหนึ่งเรารู้สึกว่าภาพยนตร์มันควรจะมีหน้าที่อื่นด้วย นอกเหนือจากแค่เล่าเรื่องเพื่อให้คนได้รับความบันเทิง

ในส่วนของเราคิดว่าภาพยนตร์ควรจะมีส่วนในการกระตุ้นหรือทำให้คนในประเทศได้มีการถกเถียงได้มีการพูดคุยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมเศรษฐกิจการเมืองหรือปัญหาอะไรก็แล้วแต่ที่สังคมมันสะท้อนออกมา หรือแม้กระทั่งการพูดถึงตัวเราเองในปัจจุบันว่าเราเองในฐานะที่เป็นคนไทย เราคิดว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมันเป็นแบบไหน เราสามารถใช้ภาพยนตร์เป็นตัวสื่อสารได้หมด

เราอยากทำภาพยนตร์ที่มีหน้าที่ในการกระตุ้นถกเถียงพูดคุยหรือทำให้คนหันมามองว่าสภาพที่เราเป็นอยู่สังคมที่เราเป็นอยู่เป็นอย่างไรแล้วเราควรจะทำอะไรต่อไป

ในฐานะผู้กำกับ บรรยากาศทางสังคม-การเมือง มีผลกระทบมากไหม?

มากเลยค่ะ เพราะถ้าเราไม่ได้รู้สึกต่อผลกระทบบางอย่างในสังคม เราคงไม่ทำหนังเรื่องนี้ แต่เรารู้สึกไง เพราะเรารู้สึกว่ามันกระทบต่อเรา เรารู้สึกว่าผลกระทบทางการเมืองมันทำให้เราอยากจะสื่อสารสิ่งที่มันมากระทบกับใจเรา

คาดหวังอะไรกับภาพยนตร์เรื่องนี้บ้าง?

คือหนังเวลาทำเสร็จแล้ว มันเป็นของคนดู มันไม่ใช่ของเรา คือต่อให้เราคาดหวังอะไรก็แล้วแต่ เขาจะได้อะไรจากเราแค่ไหนมันขึ้นอยู่กับระดับในหนังว่ามันส่งไปได้มากแค่ไหน แต่ถ้าเขาไม่ได้ เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ในการดูหนังที่แตกต่างกัน ฉะนั้นดีที่สุดของเราคือการดูหนังมันต้องไม่การทำร้ายกันเท่านั้นเอง หนังที่เราทำต้องไม่ทำให้เกิดการทำร้ายกัน อันนี้คือสิ่งที่เราคิดเสมอ

"มหาสมุทรและสุสาน" คาดว่าจะได้เข้าฉายในประเทศไทยช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมในปี 2559 เนื่องจากติดเงื่อนไขด้านทุนที่ต้องนำเข้าฉายในประเทศฝั่งยุโรปก่อน

ที่มา มติชนออนไลน์

: พิมพกา โตวิระ, มหาสมุทรและสุสาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • "ใหม่ ดาวิกา" คว้านักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัล คมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 14
  • สรุปผลการประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 25 ดาวคะนอง คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
  • ทำความรู้จัก "พิมพกา โตวิระ" เกี่ยวกับมหาสมุทรและสุสานกับโปรเจ็กต์ Unlock Indies ปลดล็อกหนังอิสระ
  • มหาสมุทรและสุสาน ของ พิมพกา โตวิระ ชนะรางวัลสาย Asian Future ที่ Tokyo International Film Festival 2015
  •  
     
     
    ร่วมแสดงความคิดเห็น
     
    ชื่อ :
     
    ความคิดเห็น :